บริษัท เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM ผู้ประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเกษตร ภายใต้การบริหารงานของ “นายเอกพันธ์ วนโกสุม” ผู้มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจด้านอุตสาหกรรมวิศวกรรมเครื่องกล และการก่อสร้างทั้งในและต่างประเทศ เคาะราคาไอพีโอ 1.30 บ./หุ้น ระดมทุน 156 ลบ. เปิดจอง 19 – 21 ก.ย. นี้ เตรียมพร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ในวันที่ 1 ต.ค. 61 นี้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย รวบรวม 8 เรื่องที่น่าสนใจของ “KWM” เพื่อให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจ ดังนี้
1. รู้จัก KWM ผู้ผลิต และจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเกษตร เจ้าของตราสินค้า “Pegasus”
บริษัท เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM ประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเกษตร พร้อมทั้ง มีการวิจัยและพัฒนาคุณภาพของอุปกรณ์การเกษตรด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทฯ ได้รับสิทธิ BOI จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตใบผาล ใบจักร ใบคัดท้าย โครงผาล ใบดันดิน ใบเกลียวลำเลียง จำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้า “Pegasus” ซึ่งเป็นตราสินค้าของบริษัทฯ เอง นอกจากนี้ ยังให้บริการรับจ้างผลิตสินค้าให้กับตราสินค้าอื่นๆ ตามแบบที่ลูกค้ากำหนด อาทิ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตนั้นต้องได้มาตรฐานการผลิตตามที่บริษัทคูโบต้ากำหนดไว้อย่างเข้มงวด ภายใต้ตราสินค้า “ตราช้าง”
ปัจจุบัน มีโรงงานอยู่ที่ นิคมอีสเทิร์นซีบอร์ด จำนวน 2 โรงงาน มีผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. ใบผาล, ใบจักร, ใบคัดท้าย เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบและยึดติดกับโครงผาลซึ่งจะนำไปต่อพ่วงกับรถแทรกเตอร์ เพื่อใช้ในขั้นตอนการเตรียมดินก่อนทำการเพาะปลูก
2. โครงผาล เป็นอุปกรณ์สำคัญในขั้นตอนการเตรียมดิน ซึ่งโดยทั่วไปจะออกแบบให้มีลักษณะเป็นโครงเหล็กซึ่งยึดกับชุดของใบผาล เพื่อให้รองรับกับขนาดของรถแทรกเตอร์ หรือสภาพของพื้นที่ที่จะทำการเพาะปลูก
3. ใบเกลียวลำเลียง เป็นส่วนประกอบในอุปกรณ์การลำเลียงขนส่งต่างๆ เช่น ข้าวเปลือก เม็ดพลาสติก ผงแป้ง เศษวัสดุ มีให้เลือกใช้ทั้งแบบเกลียวขวาและเกลียวซ้ายตามความเหมาะสมของงาน
4. ใบดันดิน เป็นอุปกรณ์ยึดติดกับส่วนหน้าของรถแทรกเตอร์ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อดันเกลี่ยหน้าดินให้เรียบ
2. ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี และครึ่งปีแรกของปี 2561
ผลการดำเนินงานในปี 58 – ครึ่งปีแรก 61 หน่วย : ล้านบาท
ปี รายได้ กำไรสุทธิ อัตรากำไรสุทธิ
2558 263.23 27.80 10.65%
2559 275.59 35.78 13.04%
2560* 260.48 20.83 8.12%
1H/61 188.94 16.69 8.95%
*ยอดขายในปี 2560 ลดลงร้อยละ 5.48 ของรายได้รวมปี 2559 สาเหตุเกิดจากการลดลงของยอดขายผลิตภัณฑ์ประเภทโครงผาล ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาด้านคุณภาพของวัตถุดิบของคู่ค้ารายหนึ่ง บริษัทจึงมีความจำเป็นที่ต้องชะลอการผลิต ทำให้ส่งสินค้าเพื่อขายให้แก่ลูกค้าลดลง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณายอดขายในส่วนของผลิตภัณฑ์ประเภทใบผาล ใบดันดิน จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย โดยโครงสร้างรายได้ของบริษัทฯ แยกตามลักษณะกลุ่มผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการขาย – ใบผาล ในปี 2558 – 2560 อยู่ที่ 53.04%, 49.38%, 49.86% ของรายได้รวมของบริษัทฯ ตามลำดับ
สำหรับ เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ ส่วนหนึ่งนำไปจ่ายชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน สนับสนุนให้บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากงวดครึ่งปีแรกของปี 2561 อยู่ที่ 0.97 เท่า และมีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) 9.50% อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) 16.95%
3. เป้าหมายการเติบโต เป็นหนึ่งในหุ้น Growth Stock และ Dividend Stock
บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 61 จะเติบโตราว 30% จากปีก่อนที่ทำได้ 260.48 ล้านบาท เนื่องจากจะเริ่มรับรู้กำลังผลิตจากโรงงานใหม่เต็มปี ประกอบกับได้ออกใบผาลตัวใหญ่ที่เป็นสินค้าใหม่ ซึ่งจะเข้ามาสนับสนุนยอดขายของบริษัทในระยะถัดไป ซึ่งเชื่อว่าหลังจากได้รับเงินระดมทุนจะเสริมให้พื้นฐานของบริษัทเติบโตอย่างมีศักยภาพ และ KWN ถือว่าเป็นหนึ่งในหุ้น Growth Stock และ Dividend Stock ซึ่งกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เชื่อมั่นในการเติบโตของบริษัทฯ ระยะยาว และคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน
โดยบริษัทฯ มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่าอัตรา 45% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ภายหลังจากหักภาษีและเงินทุนสำรองตามกฎหมายและเงินสำรองอื่น (ถ้ามี) โดยขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน ความจำเป็นในการใช้เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน แผนการลงทุน และการขยายธุรกิจในอนาคต
4. กำหนดราคา IPO 1.30 บาท คิด P/E 22.95 เท่า คาดเทรด 1 ต.ค. นี้
KWM เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกจำนวน 120 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 28.57% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยแบ่งเป็น
- เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวนไม่น้อยกว่า 115,500,000 หุ้น คิดเป็น 27.50%
- เสนอขายแก่กรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ (PP) จำนวนไม่เกิน 4,500,000 หุ้น คิดเป็น 1.07%
กำหนดราคาไอพีโอที่หุ้นละ 1.30 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย 156 ล้านบาท โดยคิด P/E ที่ 22.95 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอยู่ที่ 28.76 เท่า โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) (AECS) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด, บริษัท หลักทรัพย์ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายฯ
โดยราคาดังกล่าวเป็นราคาที่เหมาะสม จากการสำรวจพบว่า นักวิเคราะห์ จากบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 4 แห่ง ประเมินราคาเหมาะสมของ KWM ไว้ในช่วงราคา 1.9 - 2.4 บาท/หุ้น จึงคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “ KWM ” จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุน
5. วัตถุประสงค์การใช้เงินจากการขาย IPO พร้อมเปิดจองได้ 19 – 21 ก.ย. นี้
บริษัทฯ มีแผนใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้จำนวน 156 ล้านบาท เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ และจ่ายชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงินจำนวน 75 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะใช้เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจจำนวน 81 ล้านบาท โดยมีกำหนดเปิดให้จองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 กันยายน 2561 นี้
6. จุดเด่นของ KWM
เค. ดับบลิว. เม็ททัล คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเกษตร มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพระดับมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของลูกค้าและได้มาตรฐานสากล ด้วยการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย และมีคู่ค้ารายสำคัญ คือ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเกษตร ทั้งนี้ มองว่าโอกาสในการเติบโตของเค. ดับบลิว. เม็ททัล ยังมีอีกมาก สอดคล้องกับการเติบโตของภาคการเกษตรของประเทศไทย ซึ่งยังคงเป็นรากฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเป็นสินค้าวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรมหลากหลาย ขณะเดียวกันการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าการระดมทุนในครั้งนี้ช่วยต่อยอดธุรกิจของ KWM
7. KWM ทิศทางโตอีกไกล หลังไทยเข้าสู่ยุคใช้เครื่องจักรกลทำเกษตร
เกษตรกรไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่อาศัยเครื่องจักรกลในการช่วยเหลือ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดินจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เป็นประเทศเกษตรกรรม และมีรูปแบบการทำการเกษตรเช่นเดียวกับประเทศไทย และเริ่มมีการใช้งานเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นเครื่องมือช่วยเหลือจำนวนมาก และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ส่งผลดีต่อบริษัทฯ ในฐานะเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเกษตรที่มีคุณภาพระดับมาตรฐานสากล
8. เหตุผลเลือกลงทุนหุ้น “KWM”
- บริษัทมีทีมวิจัย และพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญ และไม่หยุดที่จะพัฒนาสินค้า และผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด
- ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ตลาดสินค้าเกษตรมีขนาดใหญ่ ทำให้บริษัทมีโอกาสเติบโตสูง
- บริษัทเป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับ KUBOTA ซึ่งครองตลาดสินค้าเกษตรในประเทศไทย